วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559



องค์ประกอบของนโยบายต่างประเทศการกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น จะต้องมีองประกอบที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
1. ลักษณะของผู้กำหนดนโยบาย ลักษณะดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ภาพลักษณ์ และบุคลิกลักษณะส่วนตัวของผู้กำหนดนโยบาย เช่น ผู้นำที่มีความสุขุม รอบคอบ เยือกเย็น ย่อมมีความตัดสินใจแตกต่างจากผู้นำที่มีลักษณะอารมณ์ร้อนวู่วาม เป็นต้น ลักษณะทางด้านจิตวิทยา ความเชื่อหรือการยึดถือในอุดมการณ์ต่าง ๆ ของผู้นำหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินนโยบาย มีผลถึงการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่คนเหล่านั้นรับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมด้วย กล่าวโดยสรุปลักษณะประจำตัวของผู้นำหรือผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายมักจะ ปรากฏออกมาในการกำหนดหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศที่บุคคลนั้น ๆ รับผิดชอบอยู่
2. บทบาทของผู้กำหนดนโยบาย บทบาทดังกล่าวนี้ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการแล้ว อย่างเป็นทางการ เช่น บทบาทในฐานะประมุขของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นต้น ส่วนบทบาทไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีบทบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาพรรคได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ผู้นำพรรคจะต้องเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นผู้นำรัฐบาล บทบาทก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วยก็ได้
3. ระบบราชการ หมายถึง โครงสร้างของหน่วยงานรัฐบาล กระบวนการกำดำเนินงานของหน่วยงานทางราชการที่สำคัญ ๆ กระบานการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ เพื่อการกำหนดนโยบายเทคนิคในการนำเอานโยบายต่าง ๆ ไปปฏิบัติ ทัศนคติของข้าราชการในส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายต่างประเทศที่มีต่อ นโยบายภายในประเทศและต่อสวัสดิการของรัฐโดยทั่วไป
ส่วนการปกครองระบบเผด็จการนั้น การที่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มผลประโยชน์จะเข้ามามีอำนาจต่อการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศได้น้อยกว่า ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็เพราะว่าระบบราชการถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากศูนย์กลาง การจะดำเนินนโยบายใด ๆ ก็ตามมักจะทำได้อย่างรวดเร็วก่อนที่ฝ่ายใดจะสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้อย่าง จริงจัง
4. ชาติ เป็นองค์ประกอบที่กำหนดอำนาจของรัฐ เช่น องค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางด้านภูมิศาสตร์ ขนาด ดินฟ้าอากาศทรัพยากรธรรมชาติที่แต่ละชาติมีอยู่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการกำหนด นโยบายต่างประเทศทั้งสิ้น เช่น รัฐที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรสองด้าน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาย่อมได้เปรียบกว่าโปแลนด์ที่มีที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหา อำนาจในยุโรปในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
นอกจากนั้น เศรษฐกิจก็มีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดนโยบายของแต่ละรัฐความก้าวหน้าทางด้าน เศรษฐกิจ จำนวนผลิตภัณฑ์ประชาชาติรวม ผลผลิตทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ ต่างก็มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังจะเห็นได้ว่า รัฐที่มีทรัพยากรสำคัญ เช่น น้ำมัน ย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่ารัฐที่ไม่มีน้ำมัน เพราะน้ำมันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากรัฐขาดน้ำมัน เศรษฐกิจก็จะหยุดชะงักอยู่กับที่ ดังนั้น รัฐที่มีน้ำมันก็อาจจะอาศัยน้ำมันมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองในเวทีการ เมืองระหว่างประเทศได้ ดังเช่น ที่กลุ่มโอเปกกระทำได้สำเร็จ และทำให้ประเทศในกลุ่มนี้มีสิทธิ์มีเสียงเพิ่มมากขึ้นในเวทีการเมืองโลก
ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เช่น เชื่อว่าในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มีการควบคุมทางด้านเศรษฐกิจจาก ศูนย์กลางนั้น มักจะสามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทางด้านการเมืองได้ เสมอ ในขณะที่ประเทศทุนนิยมจะนำเอานโยบายทางเศรษฐกิจมาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้าน การเมือง หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐ โดยเฉพาะมักเป็นไปได้ยาก เพราะว่าเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐเป็นอย่างมาก และเอกชนจะพยายามเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐในทางที่จะเป็น ประโยชน์ต่อตนเองมากกว่าต่อรัฐ
ส่วนทางด้านสังคมนั้น หากสังคมใดมีความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมมาก สังคมก็มีแนวโน้มที่จะแตกแยกความสามัคคีในชาติมีน้อย ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เพราะการที่จะกำหนดนโยบายใด ๆ ลงไปก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ การศึกษา ภาษา ศาสนา สีผิว เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม สถานภาพทางสังคม การกระจายรายได้ ล้วนเข้ามามีผลต่อการกำหนดนโยบายทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่รัฐจะกำหนดนโยบายใด ๆ ก็ตาม รัฐจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้อยู่เสมอ
ความเป็นมาทางด้านประวัติศาสตร์ ภาพพจน์ ลักษณะประจำชาติ อุดมการณ์ คุณภาพของรัฐบาล เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเช่นกัน เช่น การที่ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างใหญ่หลวง ย่อมทำให้คนญี่ปุ่นมีความทรงจำเกี่ยวกับภัยภิบัติอันเกิดจากสงครามได้เป็น อย่างดี จนชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากไม่ต้องการให้ประเทศของตนเข้าร่วมในการแข่งขันทาง อาวุธกับชาติอื่น ๆ อีก
5. ระบบ ในที่นี้หมายถึง ระบบระหว่างประเทศ เช่น ระบบดุลแห่งอำนาจ ระบบสองขั้วอำนาจ หรือระบบหลายขั้วอำนาจ เป็นต้น ระบบเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่น ประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น ได้ดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกามาก ต่อมาระบบระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ สงครามเย็นได้ลดความตึงเครียดลง ขณะเดียวกันประเทศไทยหันไปใช้นโยบายผูกมิตรกับจีนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ประเทศเป็นต้น นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ระบบพันธมิตร การพึ่งพาหรือพึ่งพิงระหว่างประเทศต่างถูกจัดเป็นองค์ประกอบที่เรียกว่าระบบ นี้
องค์ประกอบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำหน้าที่กำหนดฐานะบทบาทและขีดความสามารถของรัฐใน เวทีการเมืองระหว่างประเทศได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น