วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศนั้น แต่ละประเทศมีเป้าหมายและวิธีการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนแตกต่าง กันไป ซึ่งรัฐจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย
รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
การกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นมีรูปแบบต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางการเมือง ฐานอำนาจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ตลอดจนอุดมการณ์ ผลประโยชน์ และความสนใจของผู้กำหนดนโยบายเป็นสำคัญ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
1. นโยบายสมเหตุสมผล รูปแบบของนโยบายนี้ถูกกำหนดหลังจากที่ผู้กำหนดนโยบายพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด เช่น เมื่อถูกประเทศหนึ่งยื่นคำขาดขอเดินทัพผ่านประเทศตน ประเทศที่ถูกยื่นคำขาดจะพิจารณาว่าหนทางปฏิบัติของตนมีได้กี่ทาง เช่น ปฏิเสธการยื่นคำขาด และต่อสู้ทันทีหากมีการยกตราทัพเข้าประเทศ ยอมตามคำคู่นั้น เจรจาถ่วงเวลา หรือขอให้มหาอำนาจอื่นเข้าแทรกแซง เมื่อกำหนดทางเลือกแล้ว ก็จะพิจารณาว่าทางเลือกแต่ละทางนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร หลังจากนั้นก็จะเลือกหนทางที่ให้ผลดีที่สุดหรือก่อผลเสียน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ เช่น กรณีที่สวิตเซอร์แลนด์เลือกนโยบายเป็นกลาง เพราะพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ แล้ว เห็นว่านโยบายนี้ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติได้ดีที่สุด เป็นต้น
2. นโยบายโดยผู้นำ รูปแบบนโยบายโดยผู้นำนี้จะถูกกำหนดโดยผู้นำเพียงคนเดียว หรือเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น ไม่ว่าประเทศจะมีการปกครองแบบใดก็ตาม สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เช่น การกำหนดนโยบายเพื่อความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ซึ่งกำหนดโดยฮิตเลอร์และกลุ่มผู้นำทางทหารไม่กี่คน หรือนโยบายวงศ์ไพบูลย์ร่วมกันแห่งเอเซีย ซึ่งผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นกำหนดในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย นโยบายโดยผู้นำนี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีการเลือกตัวผู้นำโดยกระบวนการ ประชาธิปไตย เมื่อมีการเลือกสรรได้แล้วผู้นำเพียงไม่กี่คนก็จะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย
3. นโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป รูปแบบของนโยบายนี้เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิม เช่น นโยบายคบค้ากับจีนของประเทศไทยซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดจากการปรับตัวตาม สถานการณ์กล่าวคือ นโยบายของไทยเริ่มมีลักษณะผ่อนคลายความตึงเครียดและโอนอ่อนเข้าหาจีนอย่าง ไม่เป็นทางการ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายคบค้ากับจีนดังที่เป็นอยู่ เป็นต้น รูปแบบการกำหนดนโยบายเช่นนี้มีลักษณะอนุรักษ์นิยม กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังรักษาลักษณะบางอย่างของนโยบายเดิมเอาไว้มิได้เปลี่ยนแปลงโดยทันที
4. นโยบายแบบการเมือง ในประเทศซึ่งมีกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่มีอำนาจหรือมีบุคคลหลายกลุ่มเข้ามี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอุดมการณ์และผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป รูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศอาจมีลักษณะการเมือง คือ บุคคลแต่ละกลุ่มจะเสนอแนวนโยบายที่ตนเห็นสมควร และดำเนินการเจรจาต่อรอง หรือใช้วิธีการทางการเมืองรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้นโยบายของตนปรากฏออกมาโดยมีลักษณะประสานผลประโยชน์และอุดมการณ์ของ บุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมที่สุด แต่เป็นนโยบายที่สอดประสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ดีที่สุด
5. นโยบายแบบการเมืองโดยระบบราชการ รูปแบบของนโยบายนี้ ระบบราชการจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลติดตามวิเคราะห์ข่าวคราวเหตุการณ์ระหว่าง ประเทศ จัดทำข้อเสนอแนะ รวมทั้งทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งหน่วยราชการอาจเสนอเหตุผลและข้อมูลที่สนับสนุนทางเลือกหนึ่งซึ่งเห็นว่า เหมาะสมที่สุดและเสนอเหตุผลสนับสนุนทางเลือกอื่น ๆ อย่างไม่หนักแน่น
รูปแบบต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเหล่านี้นั้นในทางปฏิบัติรัฐต่าง ๆ มิได้ใช้แบบใดแบบหนึ่งเสมอไป แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ใน ขณะนั้น ประการหนึ่ง และขึ้นอยู่กับความเหมาะสมที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐเห็นสมควรอีก ประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแบบแผนหรือรูปแบบการกำหนดนโยบายต่างประเทศจะเป็นอย่างไร ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศพึงต้องคำนึง และพิจารณาถึงผลประโยชน์แห่งชาติของตนอยู่เสมอ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครอง ความแตกต่างในลัทธิอุดมการณ์ และในบางครั้งรัฐบาลต่างคณะกันในรัฐเดียวกันนั้นเองก็อาจใช้กระบวนการกำหนด นโยบายต่างประเทศแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
1. ระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาของอังกฤษ กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศ ที่ได้ตัดสินใจกำหนดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี การตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลจะถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ด้วยการตั้งกระทู้ถามและวิจารณ์นโยบายเหล่านั้น หากรัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในรัฐสภา นโยบายต่างประเทศนั้นก็จะได้รับการยอมรับสนับสนุน ในทางกลับกัน หากฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ นโยบายต่างประเทศนั้นก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ในบางกรณีถึงกับทำให้คณะรัฐบาลอาจต้องลาออกจากตำแหน่ง
ส่วนระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้การใช้อำนาจของสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันฝ่ายบริหาร แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดนั้น ประธานาธิบดีโดยรัฐมนตรีต่างประเทศและคณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านของ ประธานาธิบดีจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ทั้งนี้ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว หรือประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อกำหนดเป็นนโยบายได้แล้ว ประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารสามารถนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติได้ทันที
กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศในประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแบบ ประชาธิปไตยนั้น รัฐสภาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นอกจากนี้ บทบาทของสถาบันที่มิใช่องค์การฝ่ายรัฐ เช่น สื่อมวลชน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มติมหาชน และนักวิชาการก็สามารถเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โดยการเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่าง ๆ ในบางกรณี มติมหาชน และการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องปรับปรุง หรือยกเลิกนโยบายต่างประเทศนั้นได้ ดังตัวอย่างในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสงครามอินโดจีน โดยรัฐสภาไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ อันเป็นผลมาจากการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
2. ระบอบเผด็จการ ในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีกระบวนการกำหนดนโยบาย ต่างประเทศแตกต่างไปจากประเทศประชาธิปไตย กล่าวคือ ระบอบคอมมิวนิสต์จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวที่ครองอำนาจการเมืองโดย สมบูรณ์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงเป็นองค์กรที่กำหนดแนวนโยบายต่างประเทศตามที่เห็นสมควร โดยพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ระดับสูงสุด ส่วนองค์การฝ่ายรัฐบาล เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศจะทำหน้าที่เพียงผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป กระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ ย่อมแตกต่างกันไปตามประเภทของระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายเพื่อการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด มีความเสี่ยงในการนำไปปฏิบัติน้อยที่สุดและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการ เมืองระหว่างประเทศในแต่ละขณะให้มากที่สุด
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ
การดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐภายในเวทีการเมืองระหว่าง ประเทศ รัฐจึงเป็นตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ การนำนโยบายต่างประเทศไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุ ประสงค์นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ จะรับผิดชอบในระดับสูงหรือระดับนโยบาย ส่วนระดับรองลงมาอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเป็นตัวแทน เช่น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเจรจาและทำสัญญาซื้อ น้ำมันดิบกับกลุ่มประเทศโอเปค เป็นต้น ซึ่งในระดับปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำกระทรวง ต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศมักใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ดังนี้
1. การทูต คือ การรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน การทูตจะช่วยลดความขัดแย้งด้วยการเจรจาหาทางประนีประนอมระหว่างกัน การทูตเป็นเครื่องมือสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยเสมอกัน แต่ประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือทางการทูตนั้นย่อมแตกต่างกัน ออกไปขึ้นอยู่กับศิลปะของนักการทูตในการเจรจาซึ่งถือกันว่าการทูตเป็นศิลปะ อย่างหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ เช่น การชี้ชวน โน้มน้าวและจูงจิตใจ การบีบบังคับ และการข่มขวัญ เป็นต้น
2. เครื่องมือทางจิตวิทยา การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น รัฐต่าง ๆ จะใช้เครื่องมือนี้ได้ไม่เท่าเทียมกัน บางรัฐมีความสามารถในการใช้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต แต่บางรัฐอาจมีขีดความสามารถที่จำกัด โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน เป็นต้น การใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาจะอยู่ในรูปของการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีมากในช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมาสหรัฐอเมริกาถือว่า การแถลงข่าวเพื่อผลทางด้านจิตวิทยาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวอเมริกัน (USIA) และสถานีวิทยุกระจายเสียงจากอเมริกา (Voice of America) เป็นหน่วยงานสำคัญในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียต ก็พยายามแข่งขันในด้านนี้ โดยมีสำนักงานแถลงข่าวทาสส์ (Tass) และสำนักงานโฆษณาระหว่างประเทศ (AGITPROP) เป็นต้น นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว การให้ความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การให้ทุนไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ทางจิตวิทยา
3. เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเป็นวิธีการอย่าง หนึ่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ เครื่องมือทางเศรษฐกิจนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และจิตวิทยา เมื่อรัฐมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อ กันแล้ว รัฐอาจได้ผลประโยชน์ทางการเมืองในแง่ของการขยายอิทธิพล ได้ประโยชน์ทางการทหาร เช่น การตั้งฐานทัพ และประโยชน์ทางจิตวิทยา เช่น ความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อกัน เป็นต้น
4. เครื่องมือทางการทหาร การใช้เครื่องมือทางการทหารเป็นการใช้เพื่อการตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่าง กัน หรือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นเพื่อการขยายเขตอิทธิพลของตน การใช้เครื่องมือทางทหารนี้มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น สงครามในรูปแบบต่าง ๆ การแทรกแซงทางทหาร การงดการซื้อขายและให้ความช่วยเหลือทางทหาร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น